เวียดนาม : ซิลิคอน แวลลีย์ แห่งลุ่มน้ำโขง
Flappy Bird เกมนกบินลอดท่อสุดฮิตเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเวียดนามที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเวียดนามมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่าร้อยละ 43 (ประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 28) และคาดว่าอีคอมเมิร์ซจะสร้างรายได้กว่า 1.4 แสนล้านบาทในปี 2558 จากเดิม 7.9 หมื่นล้านบาทในปี 2556 โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านโครงการต่างๆ อย่าง Vietnam Silicon Valley ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนักธุรกิจกับนักลงทุน พร้อ มจัดโปรแกรมเร่งโต (Accelerator) ให้กับสตาร์ทอัพ ให้เงินสนับสนุนกับบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก จนถึงจัดหาที่ปรึกษาทางธุรกิจร่วมพัฒนาและนำเสนอต่อนักลงทุน หรือโครงการ FIRST (Fostering Innovation through Research, Science and Technology) ที่มอบทุนกว่า 3,900 ล้านบาทในช่วงปี 2557-2562 เพื่อสนับสนุนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยี เวียดนามจึงถือเป็นหนึ่งในประเทศสตาร์ทอัพที่น่าจับตามองที่สุดในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง
© wsj.net / © npr.org
© wsj.net / © npr.org
สัญญาณเชื่อมต่อจากพม่า
การเข้ามาลงทุนของบริษัทเทเลนอร์ (Telenor) จากนอร์เวย์ และบริษัทอูริดู (Ooredoo) จากกาตาร์ ทำให้ระบบโทรคมนาคมของพม่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากเดิมในช่วงไม่เกิน 5 มาปีนี้ ซิมโทรศัพท์มือถือในระบบ 2G เคยมีราคาอยู่ในหลักหมื่นบาท แต่ในปัจจุบันซิม 3G ราคาเหลือเพียงประมาณ 40 บาท วัยรุ่นใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ และเข้าร้านอินเทอร์เน็ตน้อยลง บริการร้านโทรศัพท์เริ่มหายไปจากสังคม และผู้ใช้บริการหลักร้านอินเทอร์เน็ตก็เปลี่ยนจากผู้ใช้เฟซบุ๊กและอีเมลเป็นเกมเมอร์แทน แม้ว่าเริ่มต้นช้ากว่า แต่พม่าก็กำลังปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว ที่มาพร้อมด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยของจีดีพีที่ร้อยละ 8.5 ในปีที่ผ่านมา สัญญาญที่เชื่อมต่อพม่าทั้งภายในและภายนอกประเทศจึงมีกำลังส่งแรงและมีทีท่าว่าจะไม่สะดุดล้มลงง่ายๆ
© voanews.com
© voanews.com
สตรีกัมพูชากับการค้าออนไลน์
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในกัมพูชาส่งผลให้อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว ร้านค้าออนไลน์อย่าง Shop168 มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องราวร้อยละ 10 ทุกๆ เดือน ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซออกมา สินค้าออนไลน์จึงมีภาษีเท่ากับสินค้าหน้าร้านทั่วไป ทางกระทรวงพาณิชย์เองก็มีความตื่นตัวกับอีคอมเมิร์ซด้วยการจัดโครงการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนไอเดียให้เป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซจริง ได้เข้าอบรมกับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของกัมพูชาในสาขาที่เกี่ยวข้องและเสนอธุรกิจกับนักลงทุน และอีกด้านหนึ่งก็มีการก่อตั้งศูนย์ผู้ประกอบการหญิงอย่าง Cambodia Women Entrepreneurs Association (CWEA) และศูนย์ Women’s Entrepreneurial Centers of Resources, Education, Access, and Training for Economic Empowerment (WECREATE) ของสหรัฐฯ ในกัมพูชา เพื่อสนับสนุนและยกระดับการแข่งขันของผู้ประกอบการสตรีในกัมพูชา โดยการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการหญิง พร้อมให้ความรู้และคำปรึกษาทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี รวมถึงบริการดูแลบุตรเพื่อให้ผู้เป็นแม่มีส่วนร่วมกับศูนย์ได้อย่างเต็มที่
© worldbank.org
© worldbank.org
อนาคตและความท้าทายของลาว
ประเทศที่ไม่มีทางออกไปสู่ทะเลกำลังจะมีทางเชื่อมต่อจากความร่วมมือกับเวียดนามในโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงจากสะหวันนะเขตชายแดนลาวฝั่งไทยไปสู่ลาวบาวชายแดนลาวฝั่งเวียดนามซึ่งกำลังดำเนินการสร้างและจะขยายเส้นทางเชื่อมต่อไปยังดานัง เมืองท่าสำคัญของเวียดนามโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 เพื่อใช้ทั้งโดยสารและขนส่งสินค้า เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของลาวให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีมานี้ ในปีที่ผ่านมา ลาวมีอัตราการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 7.5 โดยมีรายได้หลักจากภาคบริการและการท่องเที่ยว และการส่งออกพลังไฟฟ้าจากน้ำ แต่ความท้าทายของลาวคือการพัฒนาคุณภาพของแรงงาน อิทธิพลทางเศรษฐกิจจากประเทศที่เข้ามาลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานในชนบทอย่างไฟฟ้าซึ่งในปัจจุบันยังมีผู้เข้าถึงได้เพียงร้อยละ 75 เท่านั้น
© dawn.com
© dawn.com
เส้นทางสายไหมใหม่กับความทะเยอทะยานของจีน
การเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศในอาเซียนด้วยรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบาย One Belt, One Road ของจีนที่ต้องการจะเชื่อมตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา เอเชีย โอเชียเนีย เข้าด้วยกันเพื่อสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในกลุ่มประเทศเหล่านี้ การคมนาคมด้วยรถไฟความเร็วสูงก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เส้นทางนี้อาจจะไม่ได้เอื้อเพียงประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้นแต่เป็นการขยายอิทธิพลของจีนเช่นกัน ในปี 2557 จีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในทั้งในธุรกิจเหมืองแร่ พลังงานไฟฟ้าจากน้ำ และเกษตรกรรม นอกจากนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงที่ทำร่วมกับจีนยังทำให้ทางการลาวเป็นหนี้จีนกว่า 240,000 ล้านบาท อภิมหาโครงการของจีนในครั้งนี้จึงควรได้รับการจับตามองเป็นอย่างดี เพราะนอกจากโครงการนี้จะทำให้หลายประเทศอย่างลาว พม่า กัมพูชาและไทยจะต้องเป็นหนี้สาธารณะจากการกู้ยืมเงินเพื่อสร้างรถไฟแล้ว ประเทศอย่างลาวอาจมีโอกาสที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเส้นทางสายไหมใหม่ส่วนที่มุ่งลงสู่อาเซียนนี้เป็นประโยชน์ต่อจีนที่จะเข้าถึงทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติของประเทศที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ที่จีนมีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากมีการเพิ่มค่าแรงในจีน คำถามสำคัญก็คือในอภิมหาโครงการที่ดูเหมือนจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนี้ เหล่าประเทศคู่สัญญาจะได้คุ้มเสียหรือไม่